แบบหล่อคอนกรีตคืออะไร มีทั้งหมดกี่ประเภท และมีขั้นตอนถอดแบบอย่างไร?
แบบหล่อคอนกรีตคืออะไร?
ภาพ: แบบหล่อคอนกรีตทำจากไม้
แบบหล่อคอนกรีต คือ อุปกรณ์ที่ใช้เป็นโครงสร้างชั่วคราวสำหรับการหล่อคอนกรีตให้ได้ตามรูปแบบและขนาดตามที่ต้องการ โดยแบบหล่อจะถูกใช้เป็นโครงสร้างชั่วคราว จึงควรเลือกให้เหมาะสม แข็งแรง ทนทาน ทนต่อแรงต้านและกำลังอัดจากคอนกรีตได้ดี เพื่อให้โครงสร้างอาคารที่ได้มั่นคง รองรับน้ำหนักทั้งหมดของอาคารได้เป็นอย่างดี
4 คุณสมบัติของแบบหล่อคอนกรีตที่ดี
ภาพ: แบบหล่อไม้
- แข็งแรง ผิวเรียบ แบบหล่อคอนกรีตที่เหมาะสม ควรแข็งแรง ทนทาน ไม่โก่งตัว โค้งงอ หรือเสียรูป หลังจากเทคอนกรีตแล้ว มีพื้นผิวเรียบ ไม่ขรุขระ เพราะอาจจะทำให้ผิวคอนกรีตออกมาไม่เรียบเนียน
- มีรอยต่อน้อย เพื่อให้โครงสร้างอาคารที่ได้ออกมาเรียบเนียนต่อเนื่อง ควรเลือกใช้แบบหล่อคอนกรีตที่มีรอยต่อน้อย หรือมีรอยต่อที่มั่นคง ไม่ขยับเขยื้อนหลังเทคอนกรีตลงไปแล้ว
- หาซื้อได้ง่าย วัสดุทำแบบหล่อคอนกรีตที่เหมาะสม ควรหาซื้อได้สะดวกและมีราคาถูก หากมีข้อผิดพลาดก็สามารถหามาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
- ทนต่อปฏิกิริยาจากคอนกรีต เมื่อเทคอนกรีตแล้วซีเมนต์อาจทำปฏิกิริยากับแบบหล่อได้ ดังนั้นควรเลือกแบบหล่อที่ทนทาน ไม่เสียหายหรือเสียรูปร่าง
แบบหล่อคอนกรีตมีกี่ประเภท?
1. ไม้แปรรูป
ภาพ: แบบหล่อไม้แปรรูป
ไม้แปรรูปเป็นวัสดุทำแบบหล่อคอนกรีตยอดนิยมในอดีต เพราะผลิตง่ายไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อน มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกสบาย และยังนำมาใช้งานซ้ำได้ถึง 3-4 ครั้ง นอกจากนี้ก็ยังมีราคาถูก แต่ปัจจุบันไม้แปรรูปไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะหายากและมีราคาสูง
2. ไม้อัด
ภาพ: แบบหล่อไม้อัด
ไม้อัดเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้งานแทนไม้แปรรูป เพราะมีราคาถูกกว่า มีลักษณะเป็นไม้บาง ๆ นิยมใช้กับการหล่อคอนกรีตในพื้นที่บริเวณกว้าง เช่น หล่อผนังคอนกรีต หล่อพื้นคอนกรีต
3. เหล็ก
ภาพ: แบบหล่อเหล็ก
แบบหล่อคอนกรีตเหล็กเป็นวัสดุที่นิยมใช้กันอย่างแพ่รหลาย เพราะแข็งแรง ทนทาน ได้คอนกรีตที่ผิวเรียบเนียน และนำกลับมาใช้งานได้อีกหลายครั้ง ช่วยประหยัดงบประมาณก่อสร้าง โดยมีความหนาให้เลือกหลากหลายขึ้นอยู่กับโรงงานที่ผลิต ส่วนใหญ่นิยมใช้ที่ความหนา 2-3 มม. อย่างไรก็ตามแบบหล่อประเภทนี้จะต้องดูแลดีเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสียหายจากสนิม
4. พลาสติก
ภาพ: แบบหล่อพลาสติก
พลาสติกเป็นวัสดุยุคใหม่ที่ช่วยให้พื้นผิวคอนกรีตสวยงาม มีคุณภาพ และยังเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้งานได้หลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตามแบบหล่อคอนกรีตพลาสติกมีราคาสูงกว่าแบบหล่อประเภทอื่น จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก
5. อลูมิเนียม
ภาพ: แบบหล่อผนังอลูมิเนียม
แบบหล่อคอนกรีตอลูมิเนียม เป็นแบบหล่อที่นิยมใช้กับโครงสร้างอาคารสูง เพราะใช้ซ้ำได้หลายรอบ มีน้ำหนักเบาขนย้ายได้สะดวก จึงช่วยลดระยะเวลาก่อสร้าง และยังประหยัดค่าแรงอีกด้วย โดยแบบหล่ออลูมิเนียมมีให้เลือก 2 ชนิด ได้แก่
- แผ่นพาเนลปิดด้วยอลูมิเนียม เป็นแบบหล่อที่มีน้ำหนักมาก และยังมีราคาสูง
- แผ่นพาเนลปิดด้วยไม้อัดเคลือบฟิล์มดำ เป็นแบบหล่อที่ได้รับความนิยม เพราะมีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า
ขั้นตอนการถอดแบบหล่อคอนกรีต
ภาพ: การเทคอนกรีตลงในแบบหล่อ
- เตรียมสถานที่ ก่อนจะเริ่มถอดแบบหล่อคอนกรีต ควรเตรียมสถานที่ให้พร้อมเสียก่อน ไม่ควรวางแบบหล่อบนพื้นผิวคอนกรีต เพราะอาจทำให้ผิวคอนกรีตเป็นรอยหรือเกิดฝุ่นที่หน้าคอนกรีตได้
- วางลำดับขั้นการถอดแบบหล่อคอนกรีต การถอดแบบหล่อจะต้องวางแผนให้เป็นระบบ เพราะจะต้องทำการค้ำยันบริเวณส่วนกลางของพื้นหรือคานเสียก่อน เพื่อป้องกันการโก่งตัว ที่อาจทำให้เกิดการแตกร้าวได้
- ถอดแบบหล่อ หลังจากเทคอนกรีตแล้ว การถอดแบบและค้ำยัน จะต้องทำภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้โครงสร้างบ้านออกมามั่นคงแข็งแรงมากที่สุด โดยระยะเวลาก่อนถอดแบบหล่อคอนกรีตที่เหมาะสมสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- การบ่มคอนกรีต เป็นขั้นตอนหลังถอดแบบหล่อคอนกรีตแล้ว จะต้องบ่มคอนกรีตด้วยการฉีดน้ำให้ชุ่มหรือใช้น้ำยาบ่มคอนกรีต โดยใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน เพื่อป้องกันคอนกรีตสูญเสียความชื้นจากความร้อน หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้พื้นผิวคอนกรีตแตกร้าวได้
ข้อควรระวังในการถอดแบบหล่อคอนกรีต
ภาพ: การหล่อคอนกรีต
- ถอดแบบหล่อพร้อมกันทั้งชิ้น เพื่อให้คอนกรีตออกมาเป็นชิ้นเดียวกันอย่างต่อเนื่อง และมีสีโทนเดียวกัน ควรถอดแบบหล่อคอนกรีตทั้งชิ้นในครั้งเดียว ไม่ควรถอดออกทีละนิดหรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพราะจะทำให้คอนกรีตมีสีไม่เท่ากันได้
- ควรยืดระยะเวลาถอดแบบหากอุณหภูมิต่ำ หากสภาพอากาศหน้างานลดต่ำลง จะส่งผลให้คอนกรีตแข็งตัวช้าลง ควรยืดระยะเวลาถอดแบบหล่อคอนกรีตออกไปอีก เพื่อให้คอนกรีตเซ็ตตัวได้อย่างเต็มที่ ป้องกันการแตกร้าวเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- ตรวจสอบโครงสร้างหลังถอดแบบ ควรให้วิศวกรตรวจสอบโครงสร้างหลังถอดแบบหล่อคอนกรีตว่าโครงสร้างแข็งแรง รับน้ำหนักได้อย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ หลีกเลี่ยงการวางวัสดุก่อสร้างบนโครงสร้างทันทีหลังถอดค้ำยันโดยไม่มีการตรวจสอบก่อน เพราะอาจเกิดความเสียหายได้