“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร

Table of Contents
“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร

ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท กับ ปูนสำเร็จรูปนั้น ใช้สำหรับงานก่อฉาบผนังและเทหล่อได้เหมือนกัน จะต่างที่ขั้นตอนและวิธีการใช้งาน ซึ่งช่างหรือผู้รับเหมาจะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม

ในงานก่อฉาบผนัง หรือแม้แต่งานเทหล่อส่วนประกอบตกแต่งหรือโครงสร้างเล็กๆ ซึ่งไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก วัสดุที่จะต้องพูดถึงคงหนีไม่พื้น “ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท” ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวลื่น ยึดเกาะเนื้ออิฐและผนังได้ดี แห้งตัวพอเหมาะ ไม่ยืดหรือหดตัวมาก ช่วยลดการแตกร้าวที่ผิวผนังได้ เหมาะสำหรับงานก่ออิฐ ฉาบปูน เทปรับระดับพื้นก่อนติดตั้งวัสดุปิดผิว งานเทคอนกรีตโครงสร้างขนาดเล็ก (เช่น ตอม่อ เสา คาน พื้น ของบ้านชั้นเดียว พื้นลานหน้าบ้าน เป็นต้น) รวมถึงงานปูนปั้น เช่น งานปั้นบัว อ่างซีเมนต์ เป็นต้น

ปูนซีเมนต์ภาพ: ตัวอย่างปูนซีเมนต์ผสม สำหรับงานก่อ ฉาบ เท

 

ในขั้นตอนการทำงาน ช่างจะใช้ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท มาผสมกับทรายและน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละแบบ ยกตัวอย่างเช่น

• งานก่ออิฐ ใช้ปูนซีเมนต์ และ ทรายหยาบ (ทรายหยาบตามคุณภาพมาตรฐาน มอก. 598) ผสมกันในอัตราส่วน ประมาณ 1 : 2.5 ถึง 1 : 3

• งานฉาบปูนชั้นแรก ใช้ปูนซีเมนต์ และทรายละเอียด (เม็ดทรายขนาด 0.5 – 1.5 มม. คุณภาพมาตรฐาน มอก. 1776) ในอัตราส่วน ประมาณ 1 : 2.5 ถึง 1 : 3 ช่างปูนประเภทนี้ช่างปูนนิยมเรียกว่า “ปูนเค็ม” เพราะมีสัดส่วนของปูนซีเมนต์อยู่มาก ทำให้ยึดเกาะกับผนังได้ดี แต่ก็จะหดตัวได้มากและแต่งผิวยากเช่นกัน

• งานฉาบปูนชั้นที่ 2 ใช้ปูนซีเมนต์และทราย ในอัตราส่วนประมาณ 1 : 3 ถึง 1 : 4 หรือที่เรียกกันว่า “ปูนจืด” เนื่องจากมีทรายมากกว่า จึงหดตัวน้อย และแต่งผิวง่ายกว่าปูนเค็ม จึงเหมาะกับการฉาบผิวหน้าเพราะไม่ค่อยแตกร้าวหรือแตกลายงา

สำหรับงานเทพื้น จะต้องมีหินเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้ อัตราส่วนผสมต่างๆ ขึ้นอยู่กับปูนซีเมนต์ของผู้ผลิตแต่ละรายและคุณภาพของทราย นอกจากนี้ปริมาณการผสมน้ำยังต้องสัมพันธ์กับความชื้นของทรายด้วย ปัจจัยทั้งหมดล้วนมีผลต่อคุณภาพงานก่อสร้าง ดังนั้น การใช้ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท จึงต้องควบคุมส่วนผสมให้ได้มาตรฐาน ทั้งสัดส่วนและคุณภาพของสิ่งที่นำมาผสม เม็ดทรายต้องมีขนาดเหมาะสม ไม่ผุกร่อน สะอาด ไม่มีวัชพืช สารอินทรีย์ (เมล็ดพืช ซากพืช ซากสัตว์) หรือสารเคมีเจือปน ไม่มีสภาพเป็นกรด ด่าง หรือเกลือปนอยู่ และน้ำที่นำมาผสมต้องสะอาด

ปูนซีเมนต์

ภาพ: การผสมปูน (ซ้ายบน) การก่อผนังอิฐ (ซ้ายล่าง) และการฉาบผนัง (ขวา)

 

อย่างไรก็ตาม ในวงการก่อสร้างเรามีตัวช่วยที่ทำให้สะดวกขึ้น นั่นคือ “ปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูป” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ปูนสำเร็จรูป” เป็นปูนซีเมนต์ ที่ผสมหินบดละเอียดและสารพิเศษไว้เรียบร้อยแล้ว สัดส่วนการผสมและคุณภาพของวัตถุดิบถูกควบคุมให้มีความสม่ำเสมอ เมื่อนำมากับผสมน้ำตามสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วกวนให้เข้ากัน สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องผสมทรายหรือสารเคมีเพิ่มเติม ปูนสำเร็จรูปแต่ละแบบจะถูกแยกประเภทตามการใช้งานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น งานก่อทั่วไป งานฉาบทั่วไป งานฉาบละเอียด งานเทปรับพื้น งานซ่อมอเนกประสงค์ เป็นต้น ปูนแต่ละถุงจึงใช้ได้เฉพาะสำหรับงานนั้นๆ อย่างปูนสำเร็จรูปสำหรับงานก่อทั่วไป จะใช้สำหรับงานก่อผนังอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาฉาบผนังได้ เป็นต้น (ยกเว้นปูนสำเร็จรูปบางรุ่นที่บนถุงจะระบุการใช้งานมากกว่า 1 ประเภท)ปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูป

ภาพ: ตัวอย่างปูนสำเร็จรูปสำหรับงานประเภทต่างๆ

 

สรุปว่า “ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท” และ “ปูนสำเร็จรูป” นั้นใช้สำหรับงาน ก่อฉาบผนัง และเทหล่อ แบบเดียวกัน ต่างตรงที่ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาผสมเพื่อการใช้งานได้หลากหลาย เพียงแต่ต้องความชำนาญของช่างในเรื่องการควบคุมมาตรฐานของส่วนผสม ส่วนปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูป จะสะดวกกว่า คือสามารถผสมน้ำแล้วใช้ได้เลย ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของช่าง ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาปูนทรายไม่ได้มาตรฐานทั้งเรื่องอัตราส่วนและคุณภาพของทรายที่นำมาผสม อย่างไรก็ตามในการสั่งซื้อปูนสำเร็จรูปมาใช้ จะต้องกะปริมาณให้ดี เพราะปูนจะใช้ได้เฉพาะประเภทงานตามที่ระบุบนถุงเท่านั้น หากขาดหรือเกินจะนำมาใช้งานข้ามประเภทกันไม่ได้

ในการเลือกใช้ อาจพิจารณาตามปัจจัยและรายละเอียดของงานก่อสร้าง หากเป็นงานเฉพาะเจาะจง เช่น งานผนังอิฐมวลเบา แนะนำให้ใช้ปูนสำเร็จรูปสำหรับก่อและฉาบอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เนื่องจากอิฐมวลเบามีการยืดหดตัวที่แตกต่างจากอิฐมอญ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการก่อ ฉาบ หรือเททั่วไป สามารถเลือกตามความถนัด ความชำนาญ และประสบการณ์ของช่างหรือผู้รับเหมาแต่ละราย ซึ่งอาจเหมาะสมแตกต่างกันตามลักษณะการทำงาน

ปูนฉาบอิฐมวลเบาภาพ: ปูนสำเร็จรูปสำหรับการก่อ ฉาบผนังอิฐมวลเบา

 

ปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูปภาพ: ตัวอย่างเปรียบเทียบปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ก่อ ฉาบ เท ทั่วไป กับปูนสำเร็จรูปในงานต่างๆ

ขอขอบคุณแหล่งที่มาอ้างอิง: ปูนซีเมนต์และการประยุกต์ใช้งาน (Cement and Applications), เครือซิเมนต์ไทย, บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุสาหกรรม จำกัด, SCG HOME >> https://bit.ly/3JxP4oz