อย่าลืมองค์ประกอบเหล่านี้ หากมีโอกาสสร้างบ้านในฝัน
“บ้านหนึ่งหลังแบ่งออกเป็นหลายองค์ประกอบของงานโครงสร้าง และหลายๆ ส่วนในงานก่อสร้าง ซึ่งแต่ละส่วนแต่ละองค์ประกอบก็มีหน้าที่ ความสำคัญ และเรื่องที่ต้องคำนึงถึงที่หลากหลาย เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์”
การก่อสร้างบ้านหนึ่งหลังจะมีองค์ประกอบและส่วนต่างๆ มารวมกัน เพื่อให้เราได้บ้านที่สมบูรณ์พร้อมให้เราได้อยู่อาศัย ซึ่งองค์ประกอบในการสร้างบ้านจะประกอบด้วย โครงสร้าง หลังคา ฉนวน ฝ้าเพดาน ผนัง ประตู-หน้าต่าง รั้ว ที่จอดรถ ระบบที่เกี่ยวข้อง และวัสดุตกแต่งปิดผิว นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญที่มีรายละเอียดในการก่อสร้างบ้านมากกว่าส่วนอื่นอย่างครัว และห้องน้ำอีกด้วย
โครงสร้างบ้าน
งานโครงสร้างบ้าน เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเรื่องความแข็งแรงเพราะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของบ้าน ผู้อยู่อาศัย และส่วนประกอบอื่นๆ ของบ้าน งานโครงสร้างมีทั้งส่วนใต้ดินและบนดิน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่การลงเสาเข็ม (ความลึกขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เพราะมีชั้นดินแข็งที่ลึกแตกต่างกัน หรือบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีเสาเข็ม) ฐานราก ตอม่อ คานคอดิน เสา คาน พื้น ดาดฟ้า รวมถึงบันได นอกจากนี้ หากเป็นบ้านที่มีโครงสร้างบ้านรูปแบบอื่นอย่างเช่น ระบบผนังรับน้ำหนักซึ่งไม่มีเสาและคานในโครงสร้าง ผนังก็จะเป็นโครงสร้างของบ้านนั่นเอง
ภาพ: ตัวอย่างงานโครงสร้าง ประกอบด้วยการลงเสาเข็ม เสาตอม่อ และคานคอดิน
หลังคา
การก่อสร้างหลังคาหลังจากงานโครงสร้าง จะทำหน้าที่ช่วยกันแดดฝนให้บ้านได้บ้างก่อนก่อสร้างบ้านส่วนอื่นต่อไป ซึ่งจะประกอบไปด้วย โครงหลังคา (โครงหลังคาทั่วไป จะประกอบไปด้วย อเส ดั้ง อกไก่ ขื่อ แป จันทัน) วัสดุมุงหลังคา (เช่น กระเบื้องหลังคา) และอุปกรณ์ประกอบหลังคาที่ช่วยเรื่องการระบายน้ำฝน การป้องกันความร้อน รวมถึงป้องกันหลังคารั่วซึม
ภาพ: งานหลังคา ประกอบไปด้วย โครงหลังคา วัสดุมุงหลังคา และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ
ฉนวน
ฉนวน เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการสกัดกั้น ซึ่งสำหรับงานสร้างบ้านพักอาศัยจะมีทั้งฉนวนกันความร้อนและฉนวนกันเสียง ฉนวนกันความร้อน คือ วัตถุหรือวัสดุที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนที่เกิดขึ้นจากการแผ่รังสีความร้อน การนำความร้อน หรือการพาความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างวัตถุสองชิ้น หรือบริเวณสองบริเวณที่มีอุณหภูมิต่างกัน ซึ่งสามารถนำฉนวนกันความร้อนไปติดตั้งได้ทั้งในส่วนของหลังคา ฝ้าเพดาน และงานผนัง เพื่อลดความร้อนที่จะส่งผ่านเข้ามาภายในบ้าน ส่วนฉนวนกันเสียง จะเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ช่วยให้เสียงเดินทางผ่านยาก เพื่อกั้นเสียงไม่ให้ทะลุจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้เสียงจากภายนอกบ้านไม่เข้ามารบกวนและป้องกันเสียงจากภายในบ้านไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างการปูฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน ชั้นบนสุด (ใต้หลังคา) จะช่วยลดความร้อนที่ส่งผ่านเข้ามาจากทางหลังคา
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนที่ผนัง ช่วยลดความร้อนที่จะส่งผ่านเข้ามาทางผนัง
ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งฉนวนกันเสียงทั้งบนฝ้าเพดานและผนัง
ฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดานมีหน้าที่ปกปิดความไม่เรียบร้อยของท่อร้อยสายไฟและงานระบบต่างๆ รวมถึงช่วยลดความร้อนที่จะส่งผ่านลงมาจากทางหลังคาโดยตรง (หากติดตั้งคู่กับฉนวนกันความร้อน จะช่วยลดความร้อนได้ดียิ่งขึ้น) ตลอดจนช่วยลดฝุ่นละอองตามสายไฟและงานระบบที่อาจจะตกลงมาได้ ฝ้าเพดานแบ่งออกเป็นฝ้าภายในและฝ้าภายนอก ซึ่งฝ้าภายในจะมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น ฝ้าฉาบเรียบ ฝ้าหลุม ฝ้าตีเว้นร่อง ฝ้าทีบาร์ ส่วนฝ้าภายนอกจะนิยมใช้เป็นฝ้าชายคาระบายอากาศ (เพื่อช่วยระบายความร้อนที่โถงหลังคา) โดยฝ้าแต่ละรูปแบบก็สามารถเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ในตัวได้ตามความชอบของเจ้าของบ้าน สิ่งสำคัญคือระดับฝ้าเพดานควรมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ใช้งาน (เช่น ห้องนั่งเล่น สามารถเลือกระดับฝ้าเพดานที่สูงเพื่อความโปร่งโล่งสบายได้) และมีการติดตั้งที่ถูกวิธีตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในบ้าน
ภาพ: (บน) ตัวอย่างฝ้าเพดานภายในแบบตีเว้นร่องที่เพิ่มลูกเล่นด้วยแพทเทิร์นที่น่าสนใจ
(ล่าง) ตัวอย่างฝ้าภายนอกบ้าน ที่มีทั้งแบบฝ้าตีเว้นร่อง และ ฝ้าชายคาระบายอากาศ
ผนัง
ผนังเป็นองค์ประกอบทางแนวตั้ง มีหน้าที่กำหนดพื้นที่บ้านภายในที่ดินของเรา ป้องกันคนในบ้านจากสภาวะแวดล้อมภายนอกและคนภายนอก รวมถึงแบ่งพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นสัดเป็นส่วนเพื่อตอบโจทย์การใช้สอยของคนในบ้าน งานผนังนี้เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เป็นผนังก่ออิฐหรือผนังโครงเบา (ประกอบไปด้วยโครงคร่าว และวัสดุแผ่นเบา) และสามารถเว้นหรือเจาะช่องประตูหน้าต่างหรือผนังกระจกได้
ภาพ: งานผนังที่กำหนดขอบเขตบ้านและแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้เป็นสัดเป็นส่วน
ประตู-หน้าต่าง
ประตู เป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงบ้าน พื้นที่ภายในบ้าน และแต่ละห้องได้อย่างสะดวก ส่วนหน้าต่าง จะช่วยให้เราสามารถรับแดด ลม และบรรยากาศจากพื้นที่ภายนอกหรือพื้นที่ที่ติดกันได้ ซึ่งนอกจากประตูหน้าต่างที่เป็นช่องเปิดแล้ว อาจมีกระจกบานฟิกซ์ (ไม่สามารถเปิดปิดได้) ที่ให้เราสามารถรับแสงแดดและวิวจากภายนอกได้เช่นกัน ที่สำคัญคือต้องติดตั้งอย่างถูกวิธีให้มีความแข็งแรงและไม่รั่วซึม
ภาพ: งานประตู-หน้าต่าง เป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเปิดรับแสงแดด ลม และบรรยากาศภายนอกได้
รั้ว
รั้วเป็นตัวบ่งบอกอาณาเขตที่ดินของเรา ซึ่งควรมีความมั่นคงแข็งแรง ป้องกันเราจากอันตรายต่างๆ ภายนอกบ้านได้พอสมควร สร้างความเป็นส่วนตัว ให้เราสามารถทำกิจกรรมที่บ้านได้อย่างสบายใจ ระบบฐานรากของรั้วควรออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักรั้วและแรงดันด้านข้างจากดินได้ โดยเลือกวัสดุและรูปแบบรั้วให้เหมาะสม (เช่น รั้วทึบ รั้วโปร่ง) เข้ากับกิจกรรมภายนอกบ้านของครอบครัว รวมถึงสไตล์และภาพรวมของบ้านเรา ที่สำคัญควรมีขนาดความสูงถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ภาพ: (บน) ตัวอย่างโครงสร้างรั้วและประเภทของฐานราก (ล่าง) ตัวอย่างรั้วล้อมรอบบริเวณบ้าน
ที่จอดรถ
พื้นที่จอดรถ หรือโรงจอดรถ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่หลายบ้านที่มีรถจำเป็นต้องมี ด้วยความที่รถมีน้ำหนักมากจึงต้องมีการออกแบบโครงสร้างที่เหมาะสมให้สามารถรับน้ำหนักรถและการใช้งานต่างๆ ได้ ขนาด (ความกว้าง ความยาว ความสูง) และความลาดชันเหมาะสมและสัมพันธ์กับประเภทรถที่เราใช้ (เช่น รถตู้ โรงรถควรมีขนาดใหญ่หลังคาสูงพอ รถสปอร์ต-ซุปเปอรคาร์ ต้องคำนึงถึงความลาดชันต่ำเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถขับรถเข้าออกจากบ้านได้อย่างสะดวกสบาย ท้องรถไม่ขูดกับพื้นและทางลาด) เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม (เช่น วัสดุพื้นที่แข็งแรง มีผิวสัมผัสไม่ลื่นหรือมันวาว) รวมทั้งสามารถระบายน้ำได้ดีไม่มีขัง
ภาพ: การทำที่จอดรถ ต้องมีการออกแบบขนาด ความลาดชัน คำนวณการรับน้ำหนักให้เหมาะสมและสัมพันธ์กับรถที่เราใช้
ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระบบในบ้านส่วนใหญ่ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้า และ ระบบประปาสุขาภิบาล ซึ่งควรได้รับการออกแบบและติดตั้งจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ส่วนระบบประปาและสุขาภิบาลเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายน้ำเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคภายในบ้าน เริ่มตั้งแต่การเลือกรูปแบบและขนาดถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ ท่อน้ำ รวมถึงการบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำก่อนปล่อยสู่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังอาจมีระบบอื่นๆ อีก เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบถ่ายเทอากาศอัตโนมัติ ระบบสื่อสาร (เช่น อินเทอร์เน็ต กล้องวงจรปิด ฯลฯ) ซึ่งควรเตรียมหรือกำหนดจุดติดตั้งไว้ เพราะมีผลต่อการตกแต่งและการเก็บความเรียบร้อยภายในบ้านเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณของเจ้าของบ้านในการสร้างบ้านเป็นหลัก
ภาพ: (บน) ตัวอย่างงานระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัย (ล่าง) ตัวอย่างงานระบบประปาสำหรับบ้านพักอาศัย
วัสดุตกแต่งปิดผิว
วัสดุตกแต่งปิดผิว ซึ่งเป็นวัสดุสำหรับตกแต่งในส่วนต่างๆ ทั้งพื้น ผนัง เคาน์เตอร์ ทั้งภายในและภายนอกบ้าน เป็นส่วนที่เราสัมผัสได้ สื่อถึงรสนิยมและสไตล์การตกแต่ง เราจึงมักจะเลือกจากความสวยงามและตอบโจทย์ความชอบส่วนตัว แต่ที่สำคัญควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ใช้งานนั้นๆ เป็นหลักด้วย ในงานก่อสร้างวัสดุแต่ละประเภทมีลักษณะ รายละเอียดการติดตั้ง และการเตรียมความพร้อมที่หน้างานแตกต่างกัน ทั้งสีสัน ขนาด และความหนาวัสดุ ซึ่งหากมีวัสดุตั้งแต่สองประเภทขึ้นไปมาบรรจบกัน ควรคำนึงถึงระดับพื้นผิว รอยต่อ และการจบงานเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม
ภาพ: วัสดุตกแต่งผิวมีหลากหลายประเภท ซึ่งควรเลือกให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ใช้งาน
ครัว
ครัว เป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับการประกอบอาหาร (ครัวมีทั้งแบบครัวหนัก และครัวเบา สำหรับบ้านที่ไม่มีครัวอาจมีเป็นส่วนเตรียมอาหาร หรือ Pantry) สิ่งสำคัญคือต้องมีการเตรียมงานระบบให้พร้อมก่อน ไม่ว่าจะเป็น ระบบน้ำ ระบบไฟ ทั้งปลั๊ก สวิทช์ไฟ และแสงสว่าง รวมถึงระบบระบายอากาศที่เพียงพอ โดยสัมพันธ์กับแบบสถาปัตย์ หรือแบบตกแต่งภายในที่ออกแบบไว้ เลือกวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย (โดยเฉพาะส่วนที่ต้องสัมผัสกับอาหาร คราบน้ำมัน ควันต่างๆ) และเลือกวัสดุพื้นที่ไม่ลื่นเพื่อความปลอดภัย
ภาพ: ครัวต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องงานระบบต่างๆ ให้สัมพันธ์กับการใช้งาน
ห้องน้ำ
ห้องน้ำ เป็นห้องที่ทุกคนต้องใช้งานเป็นประจำ ซึ่งควรคำนึงถึงความสะอาด สะดวก ปลอดภัย และไม่รั่วซึมเป็นหลัก จึงต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่โครงสร้างพื้นหล่อในที่ การทำระบบกันซึม ระบบท่อน้ำดีน้ำเสียให้สัมพันธ์กับสุขภัณฑ์ อ่าง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่กำหนดตำแหน่งไว้แล้ว เพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมและกลิ่นรบกวน เลือกวัสดุพื้นที่ปลอดภัยไม่ลื่นและทำความสะอาดง่าย มีการระบายอากาศที่ดี และเมื่อเข้าอยู่อาศัยใช้งานแล้วควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม (ไม่เป็นฤทธิ๋กรดด่างรุนแรง) และถูกวิธี เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้งาน
จะเห็นว่า แต่ละองค์ประกอบของการสร้างบ้านมีความสำคัญ จึงควรมีการก่อสร้างอย่างดี ติดตั้งตามวิธีมาตรฐาน เลือกวัสดุที่มีคุณภาพ เลือกใช้ช่างที่มีความชำนาญ รวมถึงควรจ้างผู้ควบคุมและตรวจสอบงานที่ดี และเมื่อก่อสร้างองค์ประกอบครบจนได้บ้านหนึ่งหลังแล้ว ก็พร้อมสำหรับการตกแต่งภายในบ้านและการตกแต่งองค์ประกอบภายนอกโดยรอบบ้าน ให้การสร้างบ้านกลายเป็นบ้านที่อบอุ่นในแบบที่เราต้องการ
ภาพ: ห้องน้ำต้องมีการเตรียมงานระบบประปา ระบบกันซึม การแยกโซนแห้งโซนเปียก การวางตำแหน่งสุขภัณฑ์ต่างๆ
เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ที่สำคัญควรมีการระบายอากาศที่ดีและหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก scgbuildingmaterials : https://www.scgbuildingmaterials.com/th/ideas/home-story/Elements-of-Home-Building