7 เช็กลิสต์ห้องน้ำใช้งานดี สำหรับคนอยากทำห้องน้ำใหม่

Table of Contents
7 เช็กลิสต์ห้องน้ำใช้งานดี สำหรับคนอยากทำห้องน้ำใหม่

เรื่องที่ต้องคำนึงในการทำห้องน้ำที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ห้องน้ำใหม่น่าใช้งาน สะดวก ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัว

สำหรับคนที่อยากทำห้องน้ำใหม่ คงมีเรื่องที่ให้คิดไม่น้อยว่าในห้องน้ำหนึ่งห้องนั้น ควรมีอะไรบ้างเพื่อให้ห้องน้ำใหม่ของเราน่าใช้งานและมีฟังก์ชันตอบโจทย์ครบครัน วันนี้ SCGHOME.COM มาแนะนำ 7 เช็กลิสต์ในห้องน้ำที่ควรคำนึงถึง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงมือทำห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำใหม่หรือปรับปรุงจากของเดิม

1.เลือกกระเบื้องห้องน้ำให้ถูกประเภท ปลอดภัย ไม่ลื่น

กระเบื้องเซรามิกมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น กระเบื้องพื้น กระเบื้องผนัง กระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องโมเสก โดยสำหรับการใช้งานในห้องน้ำควรเลือกใช้ให้ถูกประเภท เช่น กระเบื้องผนังห้ามนำมาปูพื้น ส่วนกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นต้องเลือกแบบที่ไม่ลื่น โดยควรมีค่าการกันลื่น (Slip Resistance) ไม่น้อยกว่า R10 และอาจพิจารณาเลือกกระเบื้องที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำอย่างกระเบื้องพอร์ชเลน ทั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นกระเบื้องที่มีพื้นผิวหยาบ แต่ควรหมั่นทำความสะอาดไม่ให้มีคราบสบู่ที่อาจทำให้พื้นผิวลื่นได้ สมาชิกในบ้านจะได้ใช้ห้องน้ำอย่างปลอดภัย ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ

กระเบื้องห้องน้ำ กระเบื้องปูพื้น

ภาพ กระเบื้องที่ใช้ปูพื้นห้องน้ำควรเลือกให้ถูกประเภทและไม่ลื่น มีค่าการกันลื่นไม่น้อยกว่า R10

 

2.แยกพื้นที่ในห้องน้ำให้มีส่วนเปียกและส่วนแห้ง

ในห้องน้ำ ควรแยกพื้นที่ส่วนแห้ง (บริเวณอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์) กับพื้นที่ส่วนเปียก (บริเวณที่อาบน้ำ) ออกจากกัน โดยพื้นที่ส่วนเปียกควรมีการลดระดับให้ต่ำกว่าพื้นส่วนแห้งหรือใช้รางน้ำทิ้งกันกลิ่นแบบยาวติดตั้งระหว่างส่วนแห้งและส่วนเปียก เพื่อให้เปียกเฉพาะส่วน ลดการเกิดอุบัติเหตุ และดูแลทำความสะอาดแต่ละส่วนได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ อาจใช้ผนังกั้น กั้นด้วยกระจกหรือม่านเพิ่มเติม หรือหากจะเลือกใช้ตู้อาบน้ำก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ

ฉากกั้นห้องน้ำ ทำความสะอาด

ภาพ ห้องน้ำที่ดีควรแยกพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้ง เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย ลดการเกิดอุบัติเหตุ

.

3.อากาศในห้องน้ำถ่ายเทได้ดี ลดความอับชื้นและเชื้อโรค

ห้องน้ำที่ดีควรมีช่องทางระบายอากาศ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดความอับชื้นและการสะสมของเชื้อโรคในอนาคต แบ่งออกได้ 2 กรณีคือ .

3.1 หากเป็นห้องน้ำที่มีหน้าต่าง แนะนำให้ติดตั้งหน้าต่างในตำแหน่งที่ยังคงความเป็นส่วนตัว เช่น สูงเหนือระดับสายตาคนภายนอกขึ้นไป มักใช้หน้าต่างบานกระทุ้ง หรือหน้าต่างบานเกล็ด ซึ่งระบายอากาศได้ดี เปิด-ปิดสะดวก และหลบมุมมองจากคนภายนอก ทั้งนี้ หากเป็นหน้าต่างรูปแบบอื่น หรือมีขนาดใหญ่ อาจเลือกใช้กระจกฝ้า ติดตั้งม่าน/มูลี่เพิ่มเติม หรือออกแบบบังตาด้านนอก เช่น ติดตั้งแผงระแนงไม้ วางแนวต้นไม้ ฯลฯ เพื่อความเป็นส่วนตัวก็ได้เช่นกัน .

3.2 หากเป็นห้องน้ำที่ไม่มีหน้าต่าง สามารถติดตั้งพัดลมระบายอากาศภายในห้องน้ำได้ มีให้เลือกทั้งแบบติดผนังและบนฝ้าเพดาน ซึ่งควรเลือกขนาดพัดลมให้สัมพันธ์กับขนาดห้องและติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถระบายอากาศได้ดี

พัดลมระบายอากาศ พัดลมดูดอากาศ

ภาพ ห้องน้ำที่มีหน้าต่างระบายอากาศ ช่วยลดความอับชื้นและเชื้อโรค

.

4.มีแสงสว่างเพียงพอ สบายตา น่าใช้งาน ฆ่าเชื้อโรค

แสงสว่างในห้องน้ำที่เหมาะสมเพียงพอ จะช่วยให้สามารถหยิบจับสิ่งของและใช้งานส่วนต่าง ๆ ได้สะดวก สบายตา ทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝัน และหากเป็นไปได้ ห้องน้ำควรมีแสงแดดส่องถึง เพื่อลดความอับชื้น และช่วยฆ่าเชื้อโรคได้อีกด้วย

แสงสว่าง หน้าต่าง

ภาพ แสงสว่างที่มากเพียงพอ ทำให้ห้องน้ำสบายตาน่าใช้งาน

5.มีจำนวนและวางตำแหน่งของสุขภัณฑ์อย่างเหมาะสม

ทั้งอ่างล้างหน้าและเคาน์เตอร์ สุขภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนพื้นที่อาบน้ำ หรืออ่างอาบน้ำ ที่ต้องถูกจัดวางในห้องน้ำ ควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานและอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวก วางลำดับตั้งแต่โซนแห้งไปโซนเปียก แบ่งพื้นที่และมีระยะห่างระหว่างกันตามมาตรฐานการออกแบบเป็นอย่างน้อย ยกตัวอย่างเช่น ห้องน้ำสำหรับคนทั่วไปจะมีขนาดและระยะระหว่างอุปกรณ์/สุขภัณฑ์ต่าง ๆ แตกต่างกับห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ต้องมีขนาดพื้นที่มากพอสำหรับการใช้รถเข็น รวมถึงมีอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่มีตำแหน่งและระยะที่พอดีกับผู้ใช้งาน

อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า โถส้วม

ภาพ การจัดวางสุขภัณฑ์ในห้องน้ำควรเหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ใช้

.

6.เตรียมระบบไฟฟ้าให้พร้อม เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน

ภายในห้องน้ำมักจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำน้ำร้อน/เครื่องทำน้ำอุ่น เต้ารับปลั๊กไฟที่ติดตั้งตามจุดสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ไดร์เป่าผม เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า สุขภัณฑ์อัตโนมัติที่ใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้จึงควรติดตั้งอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดอันตรายต่อคนในบ้าน อาทิ เครื่องทำน้ำอุ่นต้องมีการติดตั้งสายดิน เต้ารับปลั๊กไฟควรติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่อยู่ในตำแหน่งที่อาจโดนน้ำกระเด็นถึง และเลือกใช้เต้ารับแบบที่มีฝาปิดหรือหน้ากากกันน้ำเพื่อความปลอดภัย

เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟภาพ การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นภายในห้องน้ำต้องมีการติดตั้งสายดินและติดตั้งเต้ารับปลั๊กไฟในตำแหน่งที่เหมาะสม

 

7.เตรียมระบบประปาและการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ

เริ่มตั้งแต่ปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำที่ควรเลือกใช้รูปแบบและขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน ต่อมาคือท่อน้ำดี โดยทั่วไปจะเดินท่อน้ำเย็นจ่ายตามก๊อกน้ำและวาล์วต่าง ๆ ซึ่งสามารถเลือกใช้ท่อประปาได้หลากหลายประเภทตามความต้องการ หากมีเครื่องทำน้ำร้อนจะต้องคำนึงถึงประเภทท่อน้ำร้อนที่เหมาะสมเพิ่มเติมด้วย ส่วนการเตรียมท่อระบายน้ำ ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสม และมีความลาดเอียงท่อตามมาตรฐาน ตลอดจนการบำบัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น น้ำเสียจากโถสุขภัณฑ์ ต้องคำนึงเรื่องการติดตั้งและการเตรียมท่อน้ำดี-ท่อระบายน้ำตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบจนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถชำระล้างได้ดี ไม่มีปัญหากลิ่นรบกวนหรือการรั่วซึมตามมาในภายหลัง ส่วนท่อน้ำทิ้งอ่างล้างหน้าควรเลือกใช้เป็น U-Trap หรือ P-Trap ให้เหมาะกับแต่ละหน้างานและความสวยงามของห้องน้ำ สุดท้ายคือท่อน้ำทิ้งที่พื้น ไม่ว่าจะส่วนแห้ง หรือส่วนเปียก (ส่วนอาบน้ำ) ควรเลือกใช้ตะแกรงป้องกันกลิ่น เพื่อลดปัญหากลิ่นเล็ดลอดออกมารบกวน

ท่อประปา บำบัดน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ

ภาพ การเตรียมระบบประปาและระบบระบายน้ำของห้องน้ำต้องถูกวิธีและเหมาะสมกับการใช้งาน

.

จะเห็นได้ว่าการทำห้องน้ำหนึ่งห้องให้ใช้งานได้ดีนั้น มีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงพอสมควร สำหรับ 7 เช็กลิสต์ที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาก่อนลงมือทำห้องน้ำ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือช่างผู้ชำนาญระดับมืออาชีพ ในการช่วยทำให้ห้องน้ำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเลือกใช้กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ท่อ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รวมถึงรูปแบบตามสไตล์ที่เจ้าของบ้านชอบ ก็จะช่วยให้ห้องน้ำน่าใช้งานมากขึ้นเช่นกัน