แผ่นพื้นสำเร็จรูปคืออะไร มีทั้งหมดกี่แบบ ควรติดตั้งอย่างไรให้แข็งแรงทนทาน

Table of Contents

หากจะพูดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้สร้างบ้านได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แผ่นพื้นสำเร็จรูปถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัสดุสมัยใหม่ ที่ช่วยประหยัดค่าแรงและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เพราะสามารถนำมาติดตั้งที่หน้างานได้เลย โดยไม่ต้องใช้แบบหล่อ อีกทั้งยังได้มาตรฐานเพราะผลิตหล่อแบบมาจากโรงงานให้พร้อมติดตั้งได้เลย สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลเรื่องพื้นสำเร็จรูปกันอยู่ วันนี้จระเข้ก็อยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับวัสดุก่อสร้างชนิดนี้กันให้มากขึ้น!

 

แผ่นพื้นสำเร็จรูป คืออะไร?

แผ่นพื้นสำเร็จรูป

ภาพ: แผ่นพื้นสำเร็จรูป

แผ่นพื้นสำเร็จรูป คือ แผ่นพื้นคอนกรีตที่ผลิตให้พร้อมใช้งานมาจากโรงงาน โดยหล่อขึ้นเป็นแผ่นและเสริมด้วยลวดอัดแรงกำลังสูง ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทาน และเนื่องจากผลิตเป็นแผ่นมาพร้อมใช้งานแล้ว พื้นสำเร็จรูปจึงเป็นระบบพื้นที่เหมาะสำหรับสร้างบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัย เพราะช่วยประหยัดเวลาและค่าแรงในการก่อสร้าง เพียงนำมาติดตั้งบนคานแล้วเทคอนกรีตทับหน้า ไม่จำเป็นต้องวางไม้แบบเพื่อหล่อที่หน้างาน และไม่ต้องรอคอนกรีตเซ็ตตัว

 

แผ่นพื้นคอนกรีตถือเป็นวัสดุที่ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่สร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก-กลาง อาคารสำนักงาน ลานจอดรถ ไปจนถึงสะพานขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จระเข้จึงมีประเภทของแผ่นพื้นที่นิยมใช้กันในการก่อสร้างบ้าน ไปดูกันต่อได้เลยว่าแผ่นพื้นคอนกรีตมีกี่แบบ แบบไหนที่เหมาะกับการสร้างบ้าน

 

แผ่นพื้นสำเร็จรูปมีกี่แบบ?

1. แผ่นพื้นคอนกรีตแบบตัน

พื้นสำเร็จรูปแบบตัน

ภาพ: พื้นสำเร็จรูปแบบตัน

แผ่นพื้นคอนกรีตแบบตัน หรือแบบอัดแรงท้องเรียบ (Plank Panel) คือ แผ่นพื้นสำเร็จรูปที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบเหมือนกับไม้กระดาน ผลิตขึ้นโดยหล่อให้พื้นท้องเรียบเสมอกัน ใช้งานสะดวกและขนย้ายได้ง่าย จึงนิยมใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยทั่วไป แต่เนื่องจากลักษณะที่เป็นแผ่นเรียบ ทำให้ต้องใช้ไม้ค้ำช่วยพยุง เพื่อป้องกันแผ่นพื้นเสียหายระหว่างขนส่ง

2. แผ่นพื้นคอนกรีตแบบสามขา

พื้นสำเร็จรูปแบบสามขา

ภาพ: พื้นสำเร็จรูปแบบสามขา

แผ่นพื้นคอนกรีตแบบสามขา คือ แผ่นพื้นสำเร็จรูปที่มีด้านหนึ่งเรียบเหมือนกับแบบตัน และอีกด้านหนึ่งมีขาเสริมทั้งหมดสามจุด ช่วยลดน้ำหนักของแผ่นพื้น ช่วยให้ผลิตได้ใหญ่ขึ้น มีความหนาถึง 7 เซนติเมตร ซึ่งหนากว่าแบบตัน และด้วยขาที่เป็นส่วนเว้าช่วยให้วางแผ่นพื้นแล้วไม่แอ่นตัว ไม่ต้องพึ่งพาไม้ค้ำยันในการติดตั้ง ช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างลงได้เป็นอย่างดี

3. แผ่นพื้นคอนกรีตแบบกลวง

พื้นสำเร็จรูปแบบกลวง

ภาพ: พื้นสำเร็จรูปแบบกลวง

แผ่นพื้นคอนกรีตแบบกลวง (Hollow Core) คือ แผ่นพื้นที่ผลิตจากคอนกรีตแห้ง มีรูกลวงตรงกลางแผ่น ทำให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น จึงขนย้ายและติดตั้งได้อย่างสะดวก โดยแผ่นพื้นสำเร็จรูปชนิดนี้มักจะมีขนาดใหญ่กว่าพื้นสำเร็จรูปแบบตัน โดยมีความหนาและกว้างให้เลือกตามรูปแบบการใช้งาน และอาจยาวได้สูงสุดถึง 12 เมตร ส่งผลให้แผ่นพื้นแบบกลวงนิยมใช้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น คอนโดมิเนียม ตึกขนาดใหญ่

นอกจากจะควรทำความรู้จักว่าแผ่นพื้นสำเร็จรูปมีกี่แบบแล้ว ขั้นตอนการติดตั้งแผ่นพื้นคอนกรีตก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากไม่ติดตั้งให้ถูกต้อง อาจทำให้พื้นแตกร้าวเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาซ่อมแซม ตามจระเข้ไปดูวิธีติดตั้งพื้นสำเร็จรูปเบื้องต้นกันว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง

 

ขั้นตอนการติดตั้งแผ่นพื้นสำเร็จรูป

การติดตั้งแผ่นพื้นสำเร็จรูปแบบวางบนคาน

ภาพ: การติดตั้งแผ่นพื้นสำเร็จรูปแบบวางบนคาน

  1. เตรียมพื้นที่ เตรียมคานที่เรียบเสมอกันสำหรับติดตั้งแผ่นพื้นสำเร็จรูป โดยต้องใช้คานที่มีความยาวเท่ากับแผ่นพื้นคอนกรีต และมีความกว้างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร และต้องมีส่วนซ้อนกันระหว่างคานกับแผ่นพื้นอย่างน้อย 5-7.5 เซนติเมตร
  2. เตรียมไม้ค้ำยัน เตรียมไม้สำหรับค้ำยันชั่วคราวบริเวณด้านล่างแผ่นพื้นสำเร็จรูป เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักของคอนกรีตที่เททับแผ่นพื้น และช่วยป้องกันการแตกร้าวเสียหาย
  3. วางแผ่นคอนกรีตตามคาน วางแผ่นพื้นลงบนคานที่เตรียมไว้ โดยใช้เครนคล้องสลิงกับแผ่นพื้นคอนกรีต และจัดระยะนั่งคานให้อยู่ระหว่าง 5-7 เซนติเมตร จัดเรียงแผ่นพื้นสำเร็จรูปให้แนบสนิท ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่น
  4. ติดตั้งเหล็กเสริม หลังวางแผ่นพื้นสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้ว ให้ติดตั้งเหล็กเสริมความแข็งแกร่งที่ด้านบนแผ่นพื้น ก่อนจะเริ่มเทคอนกรีตทับหน้า เพื่อเสริมความแข็งแรงและป้องกันการแตกร้าวในภายหลัง
  5. เทคอนกรีต เทคอนกรีตกำลังอัดไม่ต่ำกว่า 320 ksc ทับลงบนแผ่นพื้นสำเร็จรูป โดยเกลี่ยคอนกรีตให้หนาเท่า ๆ กัน แล้วใช้เครื่องจี้คอนกรีตให้สม่ำเสมอ จากนั้นจึงบ่มคอนกรีตด้วยการฉีดพ่นหรือทาน้ำยาบ่มคอนกรีตลงบนพื้นผิวทันทีที่เริ่มแข็งตัว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก jorakay >> https://www.jorakay.co.th/blog/owner/structure/what-is-precast-concrete-floor-slabs