คานทับหลังคืออะไร? ทำหน้าที่อะไรบ้าง ทำไมจึงสำคัญต่อโครงสร้างบ้าน

Table of Contents

คานทับหลัง คืออะไร?

คานทับหลัง

ภาพ: คานทับหลัง

คานทับหลัง คือ โครงสร้างส่วนหนึ่งของผนังบ้าน ที่ใช้สำหรับยึดผนังในแนวราบ โดยเป็นโครงสร้างที่ใช้ร่วมกับเสาเอ็น ซึ่งใช้ยึดโครงสร้างผนังในแนวดิ่งเชื่อมต่อกับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ช่วยรับน้ำหนักของวัสดุก่อสร้าง รับแรงกระแทกเมื่อเปิด-ปิดประตูหน้าต่าง โดยปกติคานทับหลังจะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร กว้างกว่าความกว้างของผนังก่ออิฐ การผสมคอนกรีตเพื่อเทคานทับหลังจะใช้อัตราส่วน ปูน : ทราย : หิน อยู่ที่ 1 : 3 : 4 โดยเลือกใช้หินขนาดเล็กเพื่อให้เทคอนกรีตได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

คานทับหลังควรอยู่ที่จุดใดบ้าง?

คานทับหลังเหนือช่องประตู

ภาพ: คานทับหลังเหนือช่องประตู

  1. บานประตู หน้าต่าง การก่อสร้างคานทับหลังและเสาเอ็นไว้บริเวณวงกบประตู หน้าต่าง หรือบริเวณส่วนที่บานประตูหน้าต่างปิดทับ จะช่วยรองรับน้ำหนักของวัสดุด้านบนวงกบ อีกทั้งยังช่วยรับแรงกระแทกได้ดียิ่งขึ้น ช่วยป้องกันผนังเสียหาย
  2. ผนังมีความยาวมากกว่า 3 เมตร ควรสร้างคานทับหลังไว้ในผนังที่ไม่ได้สร้างติดกับเสา และมีความสูงหรือความยาวมากกว่า 3 เมตร เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักวัสดุก่อสร้าง

 

ปัจจุบันนอกจากการเทคานทับหลังแล้ว ทับหลังสําเร็จรูปหรือคานทับหลังอิฐมวลเบาก็เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยม เพราะใช้งานง่าย ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าแรง จระเข้จึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับคานทับหลังประเภทนี้กันให้มากขึ้น

 

คานทับหลังสำเร็จรูป คืออะไร

คานทับหลังสำเร็จรูปบริเวณวงกบหน้าต่าง

ภาพ: คานทับหลังสำเร็จรูปบริเวณวงกบหน้าต่าง

คานทับหลังสำเร็จรูปหรือคานทับหลังอิฐมวลเบา คือ คานทับหลังที่ผลิตจากอิฐมวลเบา ใช้แทนที่การหล่อหรือเทคานทับหลัง มีความยาวให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 120-360 เซนติเมตร และมีความหนาให้เลือกตั้งแต่ 7.5-25 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ติดตั้งได้ด้วยการวางทับหลังสำเร็จรูปลงบนอิฐที่ตำแหน่งช่องเปิดที่อยู่เหนือวงกบประตูหรือหน้าต่าง โดยไม่ให้น้ำหนักถ่ายลงบนวงกบโดยตรง จะช่วยให้ติดตั้งได้อย่างรวดเร็วกว่า เพราะไม่ต้องผูกเสาเอ็นหรือเทคานให้เสียเวลา

 

ข้อดีของคานทับหลังสำเร็จรูป

อิฐมวลเบา

ภาพ: อิฐมวลเบา

  1. น้ำหนกเบา คานทับหลังสําเร็จรูปผลิตจากอิฐมวลเบา จึงมีน้ำหนักเบากว่าการเทคานทับหลังซึ่งใช้คอนกรีต จึงขนย้ายไปใช้ที่หน้างานได้อย่างสะดวก
  2. ติดตั้งได้รวดเร็ว เนื่องจากมีน้ำหนักเบา คานทับหลังอิฐมวลเบาจึงติดตั้งได้อย่างไม่ซับซ้อนและรวดเร็ว โดยตรวจสอบระดับตำแหน่งของวงกบ และใช้ปูนก่ออิฐมวลเบาก่อคานทับสำเร็จรูป ก็จะทำขั้นตอนต่อไปได้เลยทันที
  3. กันเสียงและความร้อน ทับหลังสําเร็จรูปบางรุ่นหรือบางแบรนด์ ผลิตจากวัสดุพิเศษ จึงมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันเสียง และกันความร้อน ซึ่งช่วยลดเสียงรบกวนและความร้อนที่จะเข้ามาในบ้าน
  4. ไม่ยืดหรือหดตัว นอกจากคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อนแล้ว คานทับหลังอิฐมวลเบาก็ยังผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้ไม่ยืดหรือหดตัว ช่วยป้องกันผนังเสียหายได้เป็นอย่างดี
  5. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากติดตั้งคานทับหลังสำเร็จรูปได้เร็วขึ้น จึงช่วยให้ประหยัดค่าแรง ประหยัดเวลาก่อสร้าง ช่วยให้ส่งมอบงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ปัญหาที่พบหากไม่ติดตั้งคานทับหลัง

รอยแตกร้าวบริเวณขอบประตู

ภาพ: รอยแตกร้าวบริเวณขอบประตู

การแตกร้าวในแนวเฉียงเป็นปัญหาหลักที่พบบ่อยหากไม่ติดตั้งคานทับหลังที่โครงสร้างผนัง โดยเฉพาะบริเวณมุมวงกบประตูและหน้าต่าง ซึ่งรอยแตกร้าวเหล่านี้จะส่งผลให้น้ำฝนและความชื้นรั่วซึมเข้ามาในบ้านได้ และทำให้วงกบบิดตัวหรือเกิดความเสียหาย ทำให้ปิดประตูหรือหน้าต่างไม่ได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของผนังอีกด้วย

เสาคอนกรีตแตกร้าว

ภาพ: เสาคอนกรีตแตกร้าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก jorakay >> https://www.jorakay.co.th/blog/owner/structure/what-is-concrete-wall-lintel